top of page
ท่อพีวีซีคือ - ท่อPVC ท่อประปา ท่อพีวีซีประปา.jpg

ท่อพีวีซีคืออะไร - คู่มือง่ายๆสำหรับมือใหม่ซื้อท่อ

ท่อพีวีซีคืออะไร มีขนาดเท่าไร ราคาเท่าไรบ้าง?

หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับการซื้อหรือการใช้งานของท่อพีวีซีมากก่อน ทำให้เวลาต้องหาข้อมูลจริงๆอาจจะทำให้ปวดหัวได้

ในวันนี้ผมขอลองรวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับท่อพีวีซีมาแบ่งบันให้กับทุกคนกันครับ ทุกหัวข้อในบทความนี้เป็นล้วนเป็นคำถามที่มีคนถามเข้ามาบ่อย ผมหวังว่าข้อมูลพวกนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนได้นะครับ

ท่อพีวีซีคืออะไร?

ท่อพีวีซี คือท่อที่ทำมาจากเม็ดพลาสติก PVC (โพลิไวนิลคลอไรด์) เป็นท่อที่นิยมใช้ในระบบประปา และการเกษตร และใช้แทนท่อเหล็กที่ขึ้นสนิมง่ายและมีราคาแพง ท่อพีวีซีทั่วไปมีขนาด ½” ถึง 12” และยาว 4 เมตร

 

ท่อพีวีซีเป็นวัสดุที่มีความทนทาน ขนาดเบา และ ราคาไม่แพงหากเทียบกับอายุการใช้งาน 50 ปี 

วัสดุสำหรับก่อสร้างและการประปาชนิดนี้เป็นที่นิยมของช่างประปาและผู้รับเหมาครับ ในการทำระบบประปา สิ่งที่ผู้ใช้อยากได้คือท่อที่สามารถลำเลียงน้ำได้ มีความยืนหยุ่นทนทาน มีน้ำหนักเบาเพื่อการขนส่งที่ง่าย และมีราคาไม่แพงมาก (ถ้าเทียบกับท่อเหล็ก ท่อพีวีซีทั้งเบาและราคาถูกกว่ามาก)

ท่อพีวีซีที่ผลิตทั่วไปมีส่วนผสมของเรซิ่นพีวีซี (PVC Resin) ไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) แคลเซี่ยม (Calcium) และสีผสมเฉพาะท่อเช่นสีฟ้าหรือสีเหลืองเป็นต้น

บทความเกี่ยวกับท่อพีวีซีส่วนนี้จะเขียนเกี่ยวกับท่อพีวีซีสีฟ้า หรือท่อพีวีซีสำหรับการประปา ซึ่งเป็นท่อพีวีซีที่คนคิดถึงมากที่สุด หากสนใจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับท่อพีวีซีชนิดอื่นเช่น ท่อสีเหลืองและท่อสีขาวเพื่อการร้อยสายไฟ สามารถศึกษาได้ที่นี่ มาตรฐานสีท่อในอาคาร

เรามาลองดูกันนะครับว่าท่อพีวีซีมีข้อดีอะไรบ้าง แล้วทำไมคนไทยถึงนิยมใช้กัน

ท่อPVC คือ

ข้อดีและคุณสมบัติของท่อพีวีซี

ท่อพีวีซีนั้นเหมาะสำหรับการใช้งานแบบประปามาก เพราะมีคุณสมบัติดังนี้ครับ

  • ท่อสามารถใช้ในการลำเลียงน้ำได้ดีเหมาะสำหรับงานประปาทุกชนิด

  • สามารถกันไฟฟ้าและสารเคมีได้บางชนิด

  • มีความเหนียวทนทานสามารถใช้งานในตัวอาคารได้ดี เหมาะกับงานที่ต้องรับแรงดันน้ำได้

  • ติดตั้งได้ง่ายโดยใช้แค่กาวทาท่อกับอุปกรณ์ข้อต่อเท่านั้น

  • อายุการใช้งานยาวนานกว่า 50 ปีทำให้ค่าบำรุงรักษาน้อย

  • น้ำหนักเบาหากเทียบกับวัสดุประปาเช่นท่อเหล็ก

  • ราคาถูกกว่าท่อเหล็ก

 

หากการใช้งานที่คุณวางแผนไว้เหมาะกับข้อดีข้างบน ท่อพีวีซีก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและน่าจะถูกที่สุดในตัวเลือกวัสดุประปาทั้งหมดแล้ว

ท่อpvc คือ - ข้อดีและคุณสมบัติของท่อพีวีซี

ข้อเสียของท่อพีวีซี

แน่นอนว่าของทุกอย่างย่อมมีข้อดีและข้อเสีย หากข้อเสียข้างล่างไม่เหมาะกับการใช้งานที่คุณอยากได้ ผมแนะนำให้ลองเลือกวัสดุประปาแบบอื่นแทนการใช้ท่อพีวีซีนะครับ

  • ท่อพีวีซีมีความเปราะ หากใช้งานนอกเหนือจากการประปาที่ผู้ผลิตกำหนดไว้แล้วอาจจะทำให้ท่อแตกได้

  • ไม่เหมาะต่ออุณหภูมิสูงโดยเฉพาะการลำเลียงน้ำร้อน

  • มีความทนทานต่อแสงแดดต่ำ ทำให้ไม่สามารถใช้กลางแจ้งได้โดยตรง (ต้องทาสีขาว หรือฝังดิน)

  • ขนส่งลำบากเพราะมีขนาดยาว (ไม่สามารถใช้รถเก๋ง หรือส่งทางไปรษณีย์ได้)

โดยที่ตัวเลือกของท่อพีวีซีส่วนมากจะเป็นท่อเหล็ก (มีความทนทานมากกว่า) ท่อ PPR (ใช้กับน้ำร้อนได้) หรือท่อเกษตร (ราคาถูกกว่า)

ท่อPVC คือ - ข้อเสียของท่อพีวีซี

ขนาดและชั้นความดันท่อพีวีซี

ท่อพีวีซีมีขนาดมาตรฐานเริ่มตั้งแต่ ½” ถึง 12” โดยขนาดท่อพีวีซีที่ทุกคนเรียกกันไม่ว่าจะ ½” หกหุน หรือ 80 มม. เป็นขนาดที่เรียกว่า ‘ขนาดระบุ’ หรือขนาดที่ช่างมีไว้เรียกสินค้าซึ่งจะไม่ตรงกับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของจริง– ขนาดท่อพีวีซีที่ขายในตลาดพร้อมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง (OD) มีดังนี้

  • ½” (สี่หุน) หรือ 18 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 22 มม

  • ¾” (หกหุน) หรือ 20 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 26 มม

  • 1” หรือ 25 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 34 มม

  • 1¼” หรือ 35 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 42 มม

  • 1½” หรือ 40 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 48 มม

  • 2” หรือ 55 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 60 มม

  • 2½” หรือ 65 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 76 มม

  • 3” หรือ 80 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 89 มม

  • 4” หรือ 100 มม.  –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 114 มม

  • 5” หรือ 125 มม.  –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 140 มม

  • 6” หรือ 150 มม.  –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 165 มม

  • 8” หรือ 200 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 216 มม

  • 10” หรือ 250 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 267 มม

  • 12” หรือ 300 มม. –  เส้นผ่าศูนย์กลาง 318 มม

หากสนใจดูตารางขนาดท่อพีวีซี ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ความหนา และน้ำหนักของท่อ สามารถดูได้ตรงบทความนี้ ขนาด ความหนา และน้ำหนักท่อพีวีซี

สำหรับงานประปาในบ้าน ส่วนมากจะใช้ท่อ ½” ถึง 1” ยกเว้นแต่กรณีท่อน้ำทิ้งที่ใช้ขนาด 1½” หรือ 2” และท่อโสโครกที่จะใช้ท่อขนาด 4” อย่างไรก็ตามตัวอย่างที่ให้ไปนั้นเป็นแค่ข้อมูลตามการใช้งานทั่วไปอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับคนออกแบบระบบได้

ท่อพีวีซีแต่ละขนาดจะมีสามชั้นความดัน (Class) ซึ่งชั้นความดันจะตัววัดว่าท่อรับแรงดันน้ำ (Working Pressure) ได้มากแค่ไหน ชั้นความดันของท่อจะมีดังต่อไปนี้

  • ท่อชั้น 5 รับความดันได้ 5 กก.ต่อตารางเซนติเมตร หรือ 5Bar หรือ 0.5 MPa หรือ 72.5 Psi

  • ท่อชั้น 8.5 รับความดันได้ 8.5 กก.ต่อตารางเซนติเมตร หรือ 8.5Bar หรือ 0.85 MPa หรือ 123 Psi

  • ท่อชั้น 13.5 รับความดันได้ 13.5 กก.ต่อตารางเซนติเมตร หรือ 13.5Bar หรือ 1.35 MPa หรือ 195 Psi

ชั้นความดันของท่อพีวีซียังจะเป็นตัวบอกความหนาของท่ออีกด้วย ท่อแต่ละขนาดจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอก (OD) เท่ากัน (เช่นท่อ ½” ชั้น 8.5 กับ ท่อ ½” ชั้น 13.5 จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ 22 มม. เหมือนกัน) แต่ท่อแต่ละชั้นความดันจะมีความหนาไม่เท่ากัน ความหนาของท่อจะส่งผลกระทบกับความสามารถในการรับแรงดันน้ำได้โดยตรง

โดยที่ท่อพีวีซีที่ใช้ในบ้านทั่วไปจะเป็นท่อชั้น 8.5 กับ 13.5 ท่อที่ใช้ฝังดินหรือฝังกำแพงส่วนมากจะเป็นท่อชั้น 13.5 ส่วนท่อชั้น 5 จะเหมาะกับการทำเป็นท่อเกษตรหรือท่อน้ำทิ้งเพราะเป็นการใช้งานที่ไม่ได้ใช้ความดันน้ำมาก ใช้แค่การลำเลียงน้ำเบื้องต้น

ความยาวของท่อพีวีซีแต่ละเส้นอยู่ที่ 4 เมตร

ท่อPVC คือ - ขนาดและชั้นความดันท่อพีวีซี

ราคาตั้งของท่อพีวีซี (ราคาปลีก)

ทางผู้ผลิตท่อพีวีซีได้มีการตั้งราคาตั้งของท่อพีวีซีมาเพื่อความง่ายในการซื้อขายระหว่างลูกค้าและร้านขายปลีกทั้งหลาย ส่วนมากแล้วราคาปลีกหรือราคาตั้งของท่อพีวีซีจะเท่ากันสำหรับทุกผู้ผลิต (หรือสำหรับท่อทุกแบรนด์) แต่ท่อแต่ละแบรนด์ก็อาจจะมีส่วนลดต่างกันออกไป ราคาท่อพีวีซีที่คนเลือกซื้อกันทั่วไปมีดังนี้ครับ

  • ท่อ ½” ราคาชั้น 8.5 – 42 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 13.5 – 53 บาทต่อเส้น

  • ท่อ ¾” ราคาชั้น 8.5 – 53 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 13.5 – 64 บาทต่อเส้น

  • ท่อ 1” ราคาชั้น 8.5 – 70 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 13.5 – 101 บาทต่อเส้น

  • ท่อ 1¼” ราคาชั้น 5 – 66 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 8.5 – 87 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 13.5 – 132 บาทต่อเส้น

  • ท่อ 1½” ราคาชั้น 5 – 80 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 8.5 – 114 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 13.5 – 170 บาทต่อเส้น

  • ท่อ 2” ราคาชั้น 5 – 120 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 8.5 – 180 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 13.5 – 260 บาทต่อเส้น

  • ท่อ 2½” ราคาชั้น 5 – 195 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 8.5 – 285 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 13.5 – 430 บาทต่อเส้น

  • ท่อ 3” ราคาชั้น 5 – 265 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 8.5 – 395 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 13.5 – 600 บาทต่อเส้น

  • ท่อ 4” ราคาชั้น 5 – 420 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 8.5 – 640 บาทต่อเส้น, ราคาชั้น 13.5 – 965 บาทต่อเส้น

ราคาท่อพีวีซีอาจจะมีส่วนลดมากน้อยขึ้นอยู่กับแบรนด์สินค้าและผู้จัดจำหน่าย แต่ส่วนมากแล้วราคาท่อพีวีซีแต่ละแบรนด์จะไม่เปลี่ยนมากปีต่อปี ทำให้เราสามารถอิงราคานี้ได้เพื่อเปรียบเทียบได้เลย หากสนใจอยากดูราคาท่อพีวีซีทั้งหมดสามารถดูได้ดังนี้ ราคาท่อพีวีซี

ท่อPVC คือ - ราคาตั้งของท่อพีวีซี (ราคาปลีก)

ท่อพีวีซีแต่ละแบรนด์

ท่อและอุปกรณ์พีวีซีแต่ละแบรนด์สามารถใช้ควบคู่กันได้เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าท่อและอุปกรณ์แบรนด์เดียวกันเสมอ เพราะสินค้าส่วนมากผลิตในมาตรฐานการใช้งานเดียวกัน (รับประกันด้วย มอก. สินค้าเพื่อปกป้องผู้ใช้) ทำให้เราสามารถซื้อท่อข้ามแบรนด์ได้โดยเฉพาะเวลาเราจะซื้ออะไหล่อุปกรณ์หรือท่อมาเปลี่ยนฉุกเฉินเป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้รับเหมากับเจ้าของโครงการบางที่ก็อาจจะมีแบรนด์ท่อที่ตัวเองนิยมใช้ในใจอยู่แล้ว

แบรนด์ท่อพีวีซีเรียงตามราคาขายในตลาดมีดังนี้ (ข้างบนสุดคือราคาแพงสุด)

  • ท่อน้ำไทย

  • ท่อตราช้าง (SCG)

  • ท่อตราเสือ (SCG)

  • ท่อตรา AAA (หรือ 3A)

  • ท่อตรา VNT

  • ท่อ Quality Pipe

  • ท่อตราเพชร

อาจจะมีแบรนด์ท่อจากผู้ผลิตเจ้าเล็กอื่นๆอีกบ้าง สามารถลองศึกษาและหาซื้อได้ตามตัวแทนจำหน่ายใกล้ตัวนะครับ ส่วนตัวแล้วหากไม่มีประสบการณ์ในการใช้ ผมแนะนำให้เลือกท่อที่มีคุณภาพ (หรือมีราคาแพง) ไว้ก่อนเพราะจะรับประกันได้มากกว่าว่าอายุการใช้งานดี การซื้อท่อราคาถูกมาแต่ต้องมาเปลี่ยนหรือซ่อมระบบภายหลังไม่ค่อยคุ้มกันเท่าไร

ราคาท่อพีวีซีที่เราประเมินไว้แต่ละแบรนด์จะเป็นดังนี้ สามารถลองศึกษาและเปรียบเทียบได้ดังนี้ ราคาท่อพีวีซีตราช้างและท่อน้ำไทย

แบรนด์ท่อ pvc

ข้อต่อและอุปกรณ์ที่ไว้ใช้กับท่อพีวีซี

ข้อต่อท่อพีวีซีคืออุปกรณ์พีวีซีที่ไว้ใช้ร่วมกับท่อพีวีซีเพื่อประกอบสร้างระบบท่อ โดยที่ส่วนมากจะใช้งานในการก่อสร้าง งานประปา หรืองานชลประทาน อย่างไรก็ตามกหลายคนก็นิยมนำท่อพีวีซีและอุปกรณ์มาทำเป็นโปรเจค DIY ด้วย

ท่อพีวีซีจำเป็นต้องใช้งานคู่กับข้อต่อและอุปกรณ์ท่อพีวีซีทั้งหลาย โดยวัตถุประสงค์ในการใช้งานของข้อต่อและอุปกรณ์ของท่อพีวีซีมีดังต่อไปนี้

  • ใช้เพื่อเชื่อมท่อพีวีซีเข้าด้วยกันเวลาสร้างระบบท่อประปา เช่นข้อต่อตรง

  • ใช้เพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ เช่นข้องอ 90 องศา

  • ใช้เพื่อเพิ่มจำนวนทางที่น้ำไหลออก เช่นข้อต่อสามทาง และ ข้อต่อสี่ทาง

  • ใช้เพื่อเปลี่ยนองศาการไหลของน้ำเพื่อควบคุมความดันน้ำ เช่นข้องอ 45 องศา

ข้อต่อท่อพีวีซีจะมีอยู่สองประเภทคือข้อต่อหนา และข้อต่อบาง ข้อต่อหนาทนชั้นแรงดันได้ 13.5 และข้อต่อบางจะทนชั้นแรงดันน้ำได้ 8.5 ข้อดีของข้อต่อบางก็คือจะราคาถูกกว่าข้อต่อหนาเลยทำให้งานท่อที่ขนาดใหญ่กว่า 2” นิยมใช้ข้อต่อบางมาก

ในประเทศไทยมีผู้ผลิตข้อต่อสำหรับท่อพีวีซีหลายโรงงาน ส่วนมากแล้วเราสามารถใช้ข้อต่อท่อแบรนด์หนึ่งต่อเข้ากับท่ออีกแบรนด์ได้ไม่มีปัญหา แต่ผู้รับเหมาหรือเจ้าของโครงการบางที่ก็นิยมที่จะเลือกข้อต่อที่ได้คุณภาพ มอก. ซึ่งในไทยก็มีผู้ผลิตแค่ท่อตราช้าง และท่อน้ำไทยเท่านั้นที่ผลิตท่อมี มอก.

ตัวอย่างชนิดของข้อต่อท่อพีวีซีที่คนนิยมใช้กันมีดังนี้ครับ สามารถดูตามรูปภาพได้เลย

 

นอกจากนี้แล้วยังมีอุปกรณ์ที่ใช้กับท่อพีวีซีอย่างอื่นอีกเช่น กาวทาท่อ กรรไกตัดท่อ เทปพันเกลียว และ บอลวาล์วเป็นต้น

ข้อต่อท่อพีวีซี

คำศัพท์เกี่ยวกับท่อพีวีซี (ที่อาจจะไม่คุ้นหู)

  • หุน หรือ หุล – คือหน่วยวัดของขนาดท่อพีวีซี หนึ่งนิ้วมีแปดหุน ท่อที่คนนิยมใช้คือ 4หุน (1/2”) และ 6หุน (3/4”) คำว่า หุน เป็นคำศัพท์จากประเทศจีนตอนแรกมีไว้เรียกท่อเหล็ก ภายหลังคนจึงนำมาใช้กับท่อพีวีซีด้วย

  • มัด – ร้านส่วนมากจะขายท่อพีวีซีขนาดเล็กกว่า 2” เป็นมัด ท่อเล็กกว่า 1” จะขายมัดละ 25 เส้น และท่อใหญ่กว่า 1” แต่เล็กกว่า 2” จะขายมัดละ 10 เส้น อย่างไรก็ตามบางร้านก็ขายเป็นเส้นได้

  • ปลายบาน หรือ บานหัว – คือการทำให้ท่อพีวีซีมีหัวบานด้วยความร้อน ท่อที่บานหัวแล้วจะสามารถต่อเข้ากับท่อเส้นอื่นได้โดยไม่ต้องใช้ข้อต่อหรืออุปกรณ์ ทำให้ประหยัดเงิน ท่อขนาดเล็กจะบานหัวยากเพราะเสี่ยงต่อการแตก

  • ปากระฆัง – บางที่ก็เรียกว่าท่อแหวนยาก จะเป็นท่อพีวีซีพิเศษสำหรับการประปาขนาดใหญ่ คนมักเรียกสลับกับท่อพีวีซีปลายบานทั่วไป ท่อปากระฆังยาว 6 เมตร (เทียบกับท่อพีวีซียาวแค่ 4 เมตร)

  • ท่อประธาน หรือท่อเมน – คือท่อหลักที่ต่อจากมิเตอร์หรือปั๊มน้ำเพื่อแจกจ่ายน้ำเข้ากับท่อเส้นอื่นๆในระบบท่อ

ราคาท่อPVC (PVC Pipes)

สั่งซื้อทันที ติดต่อ

(เวลาทำการ: 8:00AM – 5:00PM)

1 รามอินทรา 52/1 รามอินทรา 

คันนายาว กรุงเทพ 10230

info@vlineproduct.com  |  Tel: 086-310-8771

Line: @VLineProduct (มี @ ข้างหน้า)

bottom of page