ท่อ PPR คือ? ใช้งานยังไงบ้าง [ข้อมูลสำหรับคนไม่รู้อะไรเลย]
หากคุณอยู่ดีๆต้องจัดซื้อท่อน้ำเพื่อระบบประปาในอาคารหรือในบ้าน คุณก็อาจจะต้องผ่านตาคำว่า ท่อPPR (ท่อพีพีอาร์) มาบ้างไม่มากก็น้อย แต่ท่อPPR คืออะไรกันนะ
ไม่น่าแปลกใจอะไรที่หลายคนจะไม่รู้จักท่อ PPR เพราะท่อPPR เป็นผลิตภัณฑ์ด้านการประปา-การก่อสร้างที่เพิ่งมีมาไม่นาน หากเทียบกับสินค้าที่คนไทยรู้จักดีและใช้กันมาหลายสิบปีอย่างท่อPVC หรือท่อสีฟ้าแล้ว คำถามว่า ท่อPPR คืออะไร ก็เป็นสิ่งที่คนค้นหากันมาก
แต่ท่อ PPR คืออะไรกัน มีหน้าตาแบบไหน ใช้ทำอะไร แล้วทำไมเราถึงต้องสนใจเรื่องท่อPPR ตัวนี้ด้วย ในบทความนี้เราจะมาตอบคำถามกันครับ
ท่อ PPR คือ [ข้อมูลสำหรับคนไม่รู้อะไรเลย]
ท่อ PPR (ย่อจาก Polypropylene) คือท่อสำหรับงานระบบท่อน้ำประปา ท่อน้ำร้อน เป็นท่อที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยมาตรฐานใหม่ มีคุณสมบัติดีกว่าตัวเลือกอย่างท่อPVC ทนความร้อนได้ดีกว่า และ สามารถเชื่อมกับข้อต่อด้วยความร้อนได้เพื่อลดปัญหาการรั่วซึม
ในประเทศไทย คนอาจจะเรียกท่อ PPR ว่าท่อสีเขียว โดยที่คนส่วนมากมักจะใช้ท่อ PPR เพื่อเดินน้ำร้อนและน้ำอุ่นในอาคาร โดยที่ท่อ PPR จะมีขายอยู่สองรูปแบบก็คือท่อ PPR แบบ PN10 และ PN20 ซึ่งตัวPN ก็คือตัวบอกว่าท่อสามารถรับแรงดันน้ำได้เท่าไรนั่นเอง
ท่อPPR PN10 = รับความดันได้ 10 บาร์ และเหมาะกับน้ำอุ่นน้ำเย็น
ท่อPPR PN20 = รับความดันได้ 20 บาร์ และเหมาะกับน้ำร้อน
เมื่อหลายสิบปีที่แล้วก่อนที่พลาสติกจะมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย คนไทยใช้ ‘ท่อเหล็ก’ เป็นท่อประปา ซึ่งท่อเหล็กก็ดีตรงที่มีความทนทานมากกว่าท่อพลาสติก แต่ท่อเหล็กก็มีราคาแพง สามารถขึ้นสนิม และมีน้ำหนักเยอะทำให้ขนส่งและติดตั้งยาก ซึ่งก็เลยทำให้ท่อPVC กลายเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ถูกกว่า และเหมาะสมกับการใช้งานมากกว่า
แต่พลาสติกพีวีซีก็ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานความร้อนสูง แบบระบบน้ำอุ่นน้ำร้อน ทำให้ช่างประปาก็ยังต้องใช้ท่อเหล็กสำหรับน้ำร้อนอยู่ดี จนกระทั้งภายหลังทั่วโลกได้มีการสร้างท่อPPR ขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนท่อเหล็กสำหรับงานน้ำร้อนน้ำอุ่น
4 คุณสมบัติของท่อ PPR ที่คุณต้องรู้
คุณสมบัติของท่อ PPR ได้แก่เนื้อพลาสติกที่เชื่อมด้วยความร้อนเพื่อกันน้ำรั่วซึม ความทนทานต่อการใช้ในระบบน้ำร้อน ทนแรงดันน้ำได้สูง มีอายุการใช้งานนานถึง 50 ปี และสามารถใช้รวมกับท่อประปาชนิดอื่นได้
ท่อPPR เป็นท่อที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางอยู่หลายอย่างทำให้เหมาะกับการเดินระบบท่อประปาในอาคาร อย่างไรก็ตาม ‘ความเฉพาะทาง’ นี้ก็ทำให้ท่อPPR มีราคาที่ถือว่าแพงมากถ้าเทียบกับท่อประปาทั่วไป ถ้าให้ใช้งานแทนท่อประปาธรรมดาไปเลยก็คงไม่คุ้มเท่าไร เพราะฉะนั้นคนส่วนมากก็เลยเลือกใช้งานท่อPPR เฉพาะเวลาที่ ‘จำเป็นต้องใช้’ เท่านั้น เรามาดูกันว่า ‘คุณสมบัติของท่อPPR’ ที่ทำให้ท่อPPR โดดเด่นเทียบกับท่อแบบอื่นคืออะไรบ้าง
การผสานท่อกับข้อต่อเนื้อเดียว - ปกติแล้วท่อประปาอย่างท่อพีวีซีต้องใช้กาวต่อกับอุปกรณ์ข้อต่อต่างๆ เวลามีแรงดันน้ำเยอะๆหรือถ้าติดกาวไม่แน่นพอก็จะเกิดการหลุดการรั่วได้ จุดเด่นหลักของท่อ PPR ก็คือการที่ท่อ PPR เชื่อมกับอุปกรณ์ต่างๆด้วยการหลอมผสานผ่านเครื่องเชื่อมท่อแบบพิเศษ การหลอมแบบนี้ทำให้ท่อและอุปกรณ์ผสานเป็นเนื้อเดียวกันทำให้ปัญหาท่อหลุด น้ำซึม น้ำรั่ว มีน้อยลง
ระบบน้ำร้อน 95 องศา - ท่อประปาอย่างท่อพีวีซีไม่สามารถทนความร้อนได้ดี และท่ออย่างท่อเหล็กก็เป็นวัสดุก่อสร้างสมัยเก่าที่หนักและเกิดสนิมได้ง่าย ท่อPPR เป็นตัวเลือกแบบใหม่สำหรับคนที่อยากติดตั้งระบบน้ำอุ่นน้ำร้อนในอาคาร ท่อPPR PN10 มีไว้สำหรับน้ำอุ่น และ PN20 คือสำหรับน้ำร้อน เราควรเลือกท่อให้เหมาะกับการใช้งาน หากเลือกสเปคท่อสูงเกินไป ค่าใช้จ่ายของโครงการก็จะแพงเกินใชเหตุ
ความทนทานที่เหนือกว่า PVC - ข้อเสียของท่อประปาอย่างท่อPVC ก็คือความเปราะ หมายความว่าถ้าเรากระแทกจากภายนอก หรือมีน้ำที่ไหลแรงกว่าที่ท่อรับได้ ท่อก็จะแตก ท่อPPR ถูกผลิตด้วยวัสดุที่มีความเหนียวและยืดหยุ่นมากกว่า ทำให้สามารถรับแรงดันภายในและภายนอกได้ดี ยกตัวอย่างเช่น ท่อประปาที่ฝังถนนฝังดิน ถ้าถนนหรือดินมีรถวิ่งบ่อยๆหรือต้องรับน้ำหนักจากด้านบนเยอะๆ ท่อที่ไม่ทนทานก็สามารถเปราะแตกได้...และที่สำคัญก็คือจุดพวกนี้ซ่อมแซมยากมากเพราะเราต้องขุดดินขึ้นมาซ่อม
ทนแรงดัน 10 และ 20 บาร์ - ท่อPVC สามารถทนแรงดันน้ำได้มากสุดแค่ 13.5 บาร์เท่านั้น หมายความว่าคนออกแบบระบบท่อบางครั้งก็ต้องจัดท่อให้อยู่ 45 หรือ 90 องศาเพื่อลดแรงดันน้ำให้น้อยลง การเล่นกับความดันทำให้ผู้ออกแบบต้องต่อท่อยาวขึ้น ท่อต่อคดเคี้ยว เพื่อลดแรงดันน้ำกันท่อแตก แต่สำหรับท่อPPR ปัญหานี้ก็จะลดน้อยลงไปเยอะเพราะท่อPPR สามารถทนแรงดันได้มากกว่า
นอกจากนั้นแล้ว คุณสมบัติอื่นๆของท่อPPR ก็เหมือนกับคุณสมบัติท่อประปาตัวอื่นทั่วไป เช่นทนแดดทนฝน ไม่มีสารเคมีทำให้ลำเลียงน้ำได้ดี มีความทนทานอายุการใช้งานสูง 50 ปี ผิวเรียบเหมาะกับการลำเลียงน้ำ และมีความเป็นฉนวนกันไฟฟ้าครับ
ข้อดีของท่อ PPR ที่ทำให้แตกต่างจากท่ออื่นๆ
หลักจากที่เราเรียนรู้เรื่องคุณสมบัติของท่อ PPRแล้ว เรามาดูกันว่าคุณสมบัติเหล่านี้กลายเป็นข้อดีสำหรับการใช้งานยังไงได้บ้าง
การซ่อมแซม - ส่วนมากแล้วผู้ผลิตท่อPVC จะไม่แนะนำให้ ‘อุดรู’ ท่อ เวลาท่อรั่วเพราะตัวเนื้อวัสดุPVC นั้นไม่เอื้ออำนวยสำหรับการใช้งานซ่อมแซมแบบนี้เท่าไร แต่สำหรับท่อPPR นั้น ผู้ผลิตระบุไว้เลยว่าสามารถซ่อมแซมอุดรูรั่วได้ด้วยการใช้ ‘แท่งซ่อมอุดรูรั่ว’ หากเราทำตามที่ผู้ผลิตแนะนำ ถ้าท่อPVC รั่วเราก็ต้องรื้อผนัง ขุดดินลงท่อใหม่เลย (ค่ารื้อแพงกว่าค่าท่ออีก) แต่สำหรับท่อPPR เราก็สามารถลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้
ราคาที่ดีกว่าท่อเหล็ก - ท่อเหล็กสำหรับงานประปาเรียกว่าท่อ Galvanized เป็นท่อเหล็กพิเศษที่เนื้อด้านในถูกผลิตมาให้ไม่เกิดสนิม ไม่ทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำประปา แต่ท่อเหล็กก็มีราคาแพง หาซื้อยาก ขนส่งยาก ถ้าเทียบกับท่อ PPR แล้วราคาท่อPPR ดีกว่าท่อเหล็กเยอะ ท่อเหล็ก 6 เมตร ขนาด ½” ราคา 570 บาท ส่วนท่อPPR 4เมตร ½” PN20 ราคาตั้งแค่ 220 บาทเอง หากเทียบราคาต่อเมตรแล้วPPR ราคาดีกว่ากันถึงครึ่งนึง (55 บาท เทียบกับ 95 บาท)
การใช้งานกับท่อชนิดอื่น - ท่อPPR สามารถต่อเข้ากับท่อPVCได้ ซึ่งก็หมายความว่าสุขภัณฑ์ต่างๆที่ใช้ในบ้านนั้นสามารถใช้กับท่อ PPR ได้เช่นกัน ปัญหาของวัสดุก่อสร้างวัสดุประปาบางชนิดก็คือผู้ผลิตชอบ ‘มัดมือชก’ บังคับให้ใช้กับสินค้าที่ตัวเองผลิตเท่านั้น (คิดภาพว่าคนใช้ Apple Watch ก็ต้องใช้ iPhone...แต่เป็นกับก๊อกน้ำเป็นต้น) แต่ท่อPPR ถูกผลิตมาในมาตรฐานที่สามารถใช้งานได้กับท่อและสุขภัณฑ์ต่างๆตราบใดที่ผู้ติดตั้งรู้วิธีติดอย่างถูกต้อง
ข้อต่อและอุปกรณ์ PPR แบบใหม่ - ท่อPPR แตกต่างจากท่อประปาแบบอื่นตรงที่ ‘อุปกรณ์ท่อPPRง มีรูปลักษณ์โดดเด่นเพราะไม่ได้ถูกจำกัดด้วยความแข็งทื่อของวัสดุ ท่อPVC ทั่วไปก็จะมีอุปกรณ์ข้อต่อแค่ต่อตรง สองทาง ต่อโค้ง สามทาง สี่ทาง แต่สำหรับท่อ PPR นั้น เราจะมีอุปกรณ์เช่น ‘ท่อครอส’ (Cross Pipe) ที่ทำให้เราสามารถวางท่อทับกันได้ทำให้คนออกแบบระบบมีข้อจำกัดน้อยลงและบางครั้งก็สามารถลดค่าใช้จ่ายระบบท่อเราได้ด้วยตรงที่เราไม่ต้องลากท่ออ้อมไปอ้อมมา
การใช้งานท่อ PPR ที่คุณต้องรู้ก่อนออกแบบ
ท่อPPR เป็นท่อที่มีราคาแพงเพราะฉะนั้นถ้าเราซื้อมาใช้สุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่รู้วิธีการใช้งาน เราก็อาจจะ ‘เสียเงินฟรี’ จดเกิดอาการเกินงบได้ ผู้ผลิตท่อPPR ส่วนมากบอกว่าเราสามารถใช้ท่อPPR เพื่อการประปาทั่วไปได้ แต่ถ้าจะให้พูดตามตรงระบบน้ำPPR สำหรับประปาทั่วไป ‘แพงไม่คุ้มราคา’ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในระบบประปา ช่างประปา ผู้รับเหมา และเจ้าของโครงการส่วนมากเลือกที่จะใช้ท่อPPR แค่น้ำร้อนน้ำอุ่นเท่านั้น
เปรียบเทียบดูง่ายๆท่อพีวีซีชั้น 13.5 มีราคาตั้ง 53 บาท ส่วนท่อPPR ขายกันอยู่ 220 บาท ราคาต่างกัน 4 เท่าตัว! (แต่ก็ยังถูกกว่าท่อเหล็กทั้งสองอย่าง) เรียกว่าถ้ากรณีไหนเราใช้ท่อพีวีซีได้เราก็ใช้ท่อพีวีซี ส่วนกรณีไหนที่เกินสเปคท่อพีวีซี เราค่อยหันมาใช้ท่อ PPR แทน เอาเป็นว่าถ้าเราเข้าใจว่าทำไมเราต้องสนใจเรื่องการเลือกใช้ท่อ เรามาดูวิธีการใช้งานของท่อPPR กันดีกว่า
ต้องใช้เครื่องเชื่อมท่อ - ท่อPPR จะต่างกับท่อตัวอื่นตรงที่เราต้องใช้เครื่องเชื่อมในการหลอมเนื้อท่อและข้อต่อเข้าด้วยกัน เครื่องทั่วไปที่คนใช้กันจะมีราคาตั้งแต่หลายพันไปถึงเกือบหมื่นบาทเลย หากคุณเป็นช่างประปา ช่างระบบ หรือผู้รับเหมา การซื้อเครื่องเชื่อมเก็บไว้ก็คงไม่เสียหายอะไรแต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไปเครื่องเชื่อมท่อก็ถือว่าแพงพอสมควร
การที่ท่อต้องถูกเชื่อมกับอุปกรณ์มีข้อดีก็คือโอกาสที่น้ำจะรั่วมีน้อย อย่างไรก็ตามผู้ผลิตส่วนมากก็แนะนำให้ใช้ท่อและอุปกรณ์จากผู้ผลิตคนเดียวกันเพื่อลดปัญหาการ ‘เนื้อวัสดุ’ ที่ไม่สามารถเชื่อมเข้าด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้เราก็ควรเลือกท่อที่มีคุณภาพดี มีความไว้ใจได้ เผื่อเวลาเราต้องเปลี่ยน ต้องซ่อมแซมจะได้ไม่เป็นปัญหามาก (จริงๆ ผู้ผลิตท่อพีวีซีก็แนะนำแบบนี้แต่เนื่องจากสินค้าพีวีซีใช้กาวละลายผิว การใช้งานเลยง่ายกว่ากันมาก)
ระยะเวลาในการหลอมท่อ - การเชื่อมผสานท่อกับข้อต่อเนื้อเดียวนั้นใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดท่อและชนิดของท่อ ท่อPPR ส่วนมากในตลาดไทยจะมีตัวเลขเช่น 5 หรือ 7 เพื่อบอกว่าเราต้องเชื่อมนานแค่ไหนเนื้อถึงจะผสานเข้าด้วยกันในระดับที่ได้มาตรฐาน (5 หรือ 7 วินาทีเป็นต้น) ถ้าเราใช้เวลาน้อยไปท่อก็จะผลานกันได้ไม่ดี ส่วนถ้าเราใช้เวลามากไป ท่อก็จะไหม้ ส่วนนี้เราต้องระวังไว้ให้ดีเลย
เหมาะกับการใช้งานน้ำร้อนมาก - ถ้าเป็นการใช้งานเพื่อระบบน้ำอุ่นน้ำร้อนในบ้าน ท่อPPR เป็นท่อที่เหมาะสมมากที่สุดแล้ว เราสามารถเลือกท่อได้จากคาดสีน้ำเงินและคาดสีแดง โดยที่ท่อคาดสีแดงจะเป็นตัวบอกว่าท่อเหมาะกับความร้อน ซึ่งก็เป็นระบบการเตือนที่ดีเพราะถ้าเราตัดท่อไปมาและถ้าผ่านไปหลายปี บางทีคนเดินระบบก็อาจจะลืมได้ว่าท่อไหนเป็นน้ำร้อน น้ำอุ่น เรียกว่าตราบใดที่เราไม่ต้องการ ‘ความทนทานแบบเหล็ก’ (เช่น ท่ออาจโดนกระแทกเยอะเป็นต้น) งานน้ำร้อนน้ำอุ่นก็ต้องใช้ท่อPPR
แน่นอนว่าวิธีการใช้งานท่อPPR มีรายละเอียดมากกว่านี้เยอะ คุณต้องรู้ว่าเครื่องเชื่อมท่อใช้ยังไง ท่อต้องต่อกับระบบน้ำยังไง และอุปกรณ์ท่อPPR แต่ละอย่างมีอะไรบ้าง เป็นต้น แต่ผมมั่นใจว่าข้อมูลพื้นฐานส่วนนี้ก็น่าจะเพียงพอสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มศึกษาเกี่ยวกับท่อPPR แล้ว หลักจากนั้นคุณค่อยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดจำหน่ายสินค้า เพื่อหาวิธีการใช้งานท่อPPR ให้ถูกต้องอีกที
ท่อ PPR จำเป็นไหม? 3 กรณีที่ท่อPPR จำเป็นต่อตึกและอาคารของคุณ
จากประสบการณ์ของผมและจากที่คุยกับผู้ผลิตผู้จัดจำหน่ายท่อPPR หลายเจ้า ถ้าการใช้งานของคุณเป็นไปตามสามกรณีด้านล่าง โอกาสที่คุณต้องใช้ท่อPPR ก็มีอยู่เยอะครับ
#1 ต้องใช้แรงดันน้ำสูงเกินกว่าท่อPVC - ท่อPPR ที่สเปคสูงที่สุดสามารถรับความดันได้มากกว่าท่อPVC สเปคสูงที่สุดถึง 50% (13.5บาร์เทียบกับ 20บาร์) โดยปกติแล้วระบบน้ำดีในบ้านต่อให้เราใช้ความดัน 13.5 ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับอาคารที่มีหลายชั้น การออกแบบระบบท่อเพื่อรองรับความชั้นความดันน้ำก็จะยากขึ้น หากคุณต้องทำอาคารหลายชั้นและมั่นใจว่าน้ำไหลแรงกว่าชั้นความดัน 13.5 ของท่อPVC ที่สเปคสูงที่สุด คุณก็ต้องเลือกใช้ท่อPPR แบบ PN20 เท่านั้นครับ
#2 ต้องใช้ท่อที่ทนอุณหภูมิระหว่าง 50-90 เซลเซียส - ท่อน้ำประปาอย่างท่อPVC ถูกสร้างมาเพื่อลำเลียงน้ำประปา น้ำบาดาล น้ำทิ้ง น้ำโสโครก หากเราต้องการทำงานเกี่ยวกับน้ำร้อนน้ำอุ่น เช่นน้ำอุ่นในห้องอาบน้ำ เราก็ต้องหันมาดูท่ออย่างPPR แทน เพราะถ้าเราฝืนใช้ท่อPVC ความร้อนอาจจะทำให้คุณสมบัติของท่อPVC แย่ลงได้ ให้ลองดูว่าระบบน้ำร้อนน้ำอุ่นมีอุณหภูมิใช้งานและอุณหภูมิสูงสุดเท่าไร ถ้าต่ำกว่า 50 องศาก็ใช้ PN10 และถ้าต่ำกว่า 90 องศาก็ PN20
#3 ไม่ต้องใช้ท่อที่แข็งแรงมากเหมือนท่อเหล็ก - กรณีสุดท้ายที่เราต้องดูว่าระบบน้ำเรา ‘ควรใช้ท่อPPRหรือเปล่า’ ก็คือส่วน ‘ความทนทานของท่อ’ หากคุณเป็นตึกอาคารทั่วไปผมคิดว่าส่วนนี้คงไม่ใช่ปัญหาอะไรเพราะแรงกดแรงดันจากภายนอกก็คงไม่เท่าไร (ท่อพีวีซีฝังเพดานฝังกำแพงใช้ 13.5 ส่วนPPR ใช้อะไรก็ได้) แต่ถ้าท่อเราต้องได้รับแรงกระแทกเยอะกว่าปกติ เราก็ต้องใช้ท่อเหล็กแทนท่อPPR
หากคุณไม่แน่ใจว่าระบบท่อต้องใช้PPR หรือเปล่า ผมแนะนำให้ลองปรึกษาช่างประปาระบบท่อPVC ดูก่อน หากช่างประปาท่อPVC บอกว่าใช้ท่อประปาPVC ได้ คุณก็ไม่ต้องใช้ท่อPPR หรอกเพราะค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก คุณอาจจะเลือกใช้ท่อPPR แค่เฉพาะจุดจริงๆ เช่นส่วนเครื่องทำน้ำร้อนในห้องอาบน้ำหรือส่วนที่ความดันสูงจริงๆสำหรับอาคารหลายชั้นเป็นต้น
ระบบน้ำที่เหมาะสมกับท่อ PPR
ผู้ผลิตท่อPPR แนะนำว่าท่อPPR สามารถใช้งานได้กับงานระบบน้ำระบบประปาหลากหลาย ซึ่งถ้าคุณดูจากคุณสมบัติการใช้งานผมก็เห็นด้วยมาก ในส่วนนี้เรามาดูกันว่าระบบน้ำที่เหมาะสมกับท่อPPR มีอะไรบ้าง
-
ระบบท่อประปา ท่อน้ำร้อน ท่อน้ำเย็นสำหรับที่พักอาศัย และสถานประกอบการ เช่น บ้านพักอาศัย โรงพยาบาล โรงแรม อาคารสำนักงาน อาคารเรียน และอื่นๆอีกมากมาย
-
ระบบท่อน้ำเย็น สำหรับระบบปรับอากาศ ด้วยคุณสมบัติที่มีน้ำหนักเบา และไม่เกิดสนิมเหมือนท่อเหล็ก
-
ระบบขนส่งสารเคมีได้หลากหลายในโรงงานอุตสาหกรรม ระบบท่อน้ำสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร เคมีที่เป็นของเหลวและอื่นๆ
-
ระบบท่อสำหรับสระว่ายน้ำ
-
ระบบท่อสำหรับการเกษตรกรรม พืชสวน หรือพืชเรือนกระจก
-
ระบบท่อน้ำเพื่อการบริโภค ทั้งน้ำร้อนและเย็น ภายในอาคาร
-
ระบบท่อน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศ
เราจะเห็นได้ว่าระบบน้ำด้านบน ถ้าเราจะเลือกใช้ท่อPPR เราก็คงใช้ได้ แต่ถ้าถามว่าจำเป็นต้องใช้ท่อPPR เท่านั้นเหรือเปล่า คำตอบก็คือ ‘อาจจะไม่คุ้ม’ แต่ถ้าคุณมีงบเยอะ อยากใช้ท่อสเปคสูงสำหรับทุกระบบประปาของคุณ ท่อPPR ก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ไม่อย่างนั้น คุณก็สามารถประหยับงบได้ด้วยการเลือกท่อPPR ให้เหมาะกับงานที่ท่อประปาทั่วไปไม่สามารถทำได้เท่านั้น
ราคาท่อPPR คือเท่าไรบ้าง
ราคาท่อPPR จะต่างจากท่อPVC ตรงที่ ‘ไม่มีราคากลางตามอุตสาหกรรม’ หมายความว่าผู้ผลิตแต่ละโรงงานจะมีราคาไม่เท่ากัน ซึ่งก็ทำให้การจัดซื้อยุ่งยากพอสมควร ราคาด้านล่างเป็นราคาตั้ง (หรือราคาขายปลีก) ของ Thai PPR ที่น่าจะเป็นบริษัทขายท่อPPR ที่ใหญ่อันดับต้นๆของประเทศ (อีกหนึ่งบริษัทคือ SCG ผู้ผลิตท่อตราช้าง ตราเสือ)
ตัวเลขข้างล่างผมแนะนำให้ศึกษาไว้เป็นฐานวัดเฉยๆ ถ้าคุณซื้อท่อแบบมีจำนวนคุณก็ควรจะจัดซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า
ราคาท่อ PPR ขนาด 20มม.
ชั้นความดัน PN12.5 ราคา 140 บาท
ชั้นความดัน PN20 ราคา 216 บาท
ราคาท่อ PPR ขนาด 25มม.
ชั้นความดัน PN10 ราคา 184 บาท
ชั้นความดัน PN20 ราคา 332 บาท
ราคาท่อ PPR ขนาด 32มม.
ชั้นความดัน PN10 ราคา 304 บาท
ชั้นความดัน PN20 ราคา 536 บาท
ราคาท่อ PPR ขนาด 40มม.
ชั้นความดัน PN10 ราคา 452 บาท
ชั้นความดัน PN20 ราคา 836 บาท
ราคาท่อ PPR ขนาด 50มม.
ชั้นความดัน PN10 ราคา 720 บาท
ชั้นความดัน PN20 ราคา 1,300 บาท
ราคาท่อ PPR ขนาด 63มม.
ชั้นความดัน PN10 ราคา 1,148 บาท
ชั้นความดัน PN20 ราคา 2,044 บาท
ราคาท่อ PPR ขนาด 75มม.
ชั้นความดัน PN10 ราคา 1,608 บาท
ชั้นความดัน PN20 ราคา 2,532 บาท
ราคาท่อ PPR ขนาด 90มม.
ชั้นความดัน PN10 ราคา 2,248 บาท
ชั้นความดัน PN20 ราคา 3,508 บาท
ราคาท่อ PPR ขนาด 110มม.
ชั้นความดัน PN10 ราคา 3,336 บาท
ชั้นความดัน PN20 ราคา 4,996 บาท
ราคาท่อ PPR ขนาด 125มม.
ชั้นความดัน PN10 ราคา 5,268 บาท
ราคาท่อ PPR ขนาด 160มม.
ชั้นความดัน PN10 ราคา 9,800 บาท
ส่วนมากแล้ว ถ้าคุณใช้งานท่อPPR สำหรับน้ำอุ่นน้ำร้อนในอาคาร คุณก็คงไม่ได้ใช้ขนาดใหญ่เกินกว่า 2” หรอกครับ (สุขภัณฑ์ทั่วไปขนาด ½” และ ¾” เท่านั้น) เพราะฉะนั้นถ้าท่อPPRขนาดใหญ่ดูมีราคาแพงเกินกว่าที่คุณคาดฝันก็ไม่ต้องแปลกใจอะไร...คุณคงไม่ได้ใช้หรอกครับ
สุดท้ายแล้ว ท้ายนี้ ถ้าคุณต้องการ สอบถาม หรือ ขอคำแนะนำเรื่อง ราคา การใช้งาน ประโยชน์ หรือวิธีการเลือกท่อ PPR สำหรับคุณหรือโครงการของคุณก็สามารถติดต่อได้ที่เว็บไซท์นี้เลย
หากใครสนใจอยากศึกษาเพื่มเติมให้ดูได้ที่หน้า ราคาท่อPPR ของเราหรือทักเข้ามาได้ด้านล่างก็ได้ครับ
สนใจปรึกษาเรื่องราคาท่อPPR
เราให้คำปรึกษาเรื่องการใช้งาน การจัดซื้อ การทำใบเสนอราคา ฟรี!
(เวลาทำการ: 8:00AM – 5:00PM)
ปรึกษาเรื่องท่อทันที ติดต่อ
Line: @VLineProduct (มี @ ข้างหน้า)